25 January 2009

เครื่องบินตก กับ ปลากระป๋องบูด

ช่วงนี้ติด Air Crash Investigation มากเลยครับ

จริงๆแล้วเนี่ย ผมเป็นคนชอบเครื่องบินมาตั้งแต่เด็กแล้วครับ ความฝันวัยเด็กก็ต้องเป็นนักบินอย่างไม่ต้องสงสัย ผมเลยค่อนข้างจะศึกษาเครื่องบินอย่างจริงจัง ชอบเอาแบบพิมพ์เขียวของเครื่องหลายรุ่น หลายแบบมาดู ศึกษาหลักการทำงานของระบบภายในคร่าวๆ ศึกษาปุ่มและคันโยกต่างๆในห้องนักบิน ถึงขนาดว่าถ้าให้ผมนั่งเป็นกัปตันผมก็ (อาจจะ) นำเครื่องขึ้น (Take off) จนนำเครื่องลงตามปกติ (Landing) ได้

ช่วงนี้เหมือนเกิดอาการจิตตกเล็กน้อยครับ งานมีเยอะ แต่ไม่ค่อยได้ทำ กลับเกิดอารมณ์ อยากตามใจตัวเองขึ้นมา นั่งหาใน Youtube ว่ามีรายการอะไรเกี่ยวกับเครื่องบินบ้าง โดยเฉพาะสารคดี อยากเพิ่มความรู้ (ที่ไม่ค่อยมีความหมาย) ให้มากขึ้น จึงเริ่มค้นจากรายการ Seconds from Disaster ของ National Geographic Channel ซึ่งผมเคยดูมาก่อนแล้ว นั่งดูไปหลายตอน นั่งกด Related Videos ไปเรื่อยๆจนเจอรายการ Air Crash Investigation เข้าครับ

รายการ Air Crash Investigation จะเป็นรายการเกี่ยวกับอุบัติเหตุทางอากาศยานครับ ของช่อง National Geographic Channel เช่นเดียวกัน (รุ้สึกใน True Vision ก็มี) โดยจะมีการจำลองเหตุการณ์เครื่องบินตกขึ้นมา สร้างแบบจำลองในคอมพิวเตอร์ แสดงการบินตั้งแต่เกิดเหตุขัดข้อง จนเครื่องตก นอกจากนี้ยังมีการให้นักบิน (น่าจะเป็นนักบินจริงนะ) มาจำลองเหตุการณ์ในเครื่อง simulator แถมยังพานักแสดงมาอีกมากมาย
แสดงเป็นผู้โดยสารในเครื่องบิน ซึ่งก็คงใช้เครื่องจำลองในส่วนโดยสารอีกเช่นกัน (เหมือนที่หนังหลายเรื่องใช้) เพื่อจำลองเหตุการณ์ ที่ผมดูบ้างทีถึงกับอึ้ง ไปเหมือนกัน บีบหัวใจอย่างถึงที่สุด เหมือนกับได้นั่งดู United 93 ที่ไม่ซ้ำแบบกัน หลายสิบเรื่อง ล้วนแต่น่าตกใจ และใจหายทั้งสิ้น

สิ่งที่ผมชอบมากของรายการนี้ ก็คือ การสืบสวนหาเหตุของอุบัติเหตุนั้นครับ

ทำไมการสืบสวนหาสาเหตุของอุบัติเหตุทางเครื่องบินนั้นจึงสำคัญ?

ทำไมต้องสอบสวนสืบสวนกันอย่างเอาเป็นเอาตาย ใช้เงินไปมหาศาล เพื่อหาคำตอบให้ได้?

จริงอยู่ว่าเครื่องบินแทบจะเป็นพาหนะที่ปลอดภัยที่สุดในโลก อัตราการเกิดอุบัติเหตุแต่ละครั้งนั้น ไม่เกิน 1 ใน 100 ล้าน แต่ความเสียหาย และความสูญเสียแต่ละครั้งมันมากเกินกว่าที่จะให้อภัยได้ การเกิดเหตุการณ์แบบเดียวกันซ้ำสองจึงเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ในวงการการบิน ความปลอดภัยต้องอยู่ที่ระดับ 150% ตลอดเวลา การตรวจเช็คต้องไม่ผิดพลาด อะไหล่ทุกชิ้นต้องถูกเปลี่ยนตามกำหนด เกินไม่ได้แม้แต่นาทีเดียว

แต่ถึงอย่างไรก็ตาม อุบัติเหตุก็เกิดขึ้นจนได้ เมื่อเกิดเหตุขึ้นมาแล้วจึงต้องมีการสอบสวน เพื่อหาจุดผิดพลาดของบุคคล อุปกรณ์ คอมพิวเตอร์ หรืออะไรก็ตาม ที่จะทำให้เกิดเหตุซ้ำขึ้นมาอีก ยกตัวอย่างเช่น
อุบัติเหตุครั้งหนึ่งในปี 1972 ที่อเมริกา เครื่องบินแบบ McDonnell Douglas MD-11 รุ่นล่าสุดใหม่เอี่ยม (ในตอนนั้น) ของสายการบิน American Airlines เที่ยวบิน 96 ที่ขณะกำลังไต่ระดับอยู่ก็เกิดรูโหว่ใหญ่ทางด้านหลังของเครื่องบิน เพราะประตูช่องสัมภาระมีระบบการล็อกที่ไม่ดี ทำให้ประตูเกิดเปิดออกขณะที่กำลังไต่ระดับ พื้นห้องโดยสารถูกดูดที่นั่งหลุดออกไป 2 แถว เครื่องบินควบคุมแพนหางไม่ได้ เพราะสายไฮโดรลิกที่อยู่ใต้พื้นห้องโดยสารถูกตัดขาด โชคยังดี ที่ที่นั่ง 2 แถวนั้นไม่มีโดยสาร และกับตันสามารถนำเครื่องลงจอดได้อย่างปลอดภัย ไม่มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์นั้น

หลังจากเรื่องครั้งนั้น NTSB และ FAA จึงได้มีการแจ้งเตือนไปที่บริษัทผู้สร้างเครื่องบิน (McDonnell Douglas) ให้มีการปรับปรุงเครื่องบิน 2 ส่วน คือระบบล็อกประตูสัมภาระ และการวางสายไฮโดรลิก เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ซ้ำสอง

แต่แล้ว... มันก็เกิดขึ้น

สายการบิน Turkish Airlines เที่ยวบิน 981 ที่ใช้เครื่องบินรุ่นเดียวกัน เกิดเหตุการณ์เดียวกัน ระหว่างลดระดับ ในเที่ยวบิน อิสตันบูล – ลอนดอน แต่ครั้งนี้แย่ยิ่งกว่า นักบินไม่สามารถควบคุมเครื่องได้ จึงตกใกล้ๆปารีส ผู้โดยสารและลูกเรือรวม 346 คน ไม่มีผู้รอดชีวิต

ทุกคนจงเกิดคำถามว่า ทำไม? ทำไม? และ ทำไม?

สาเหตุก็เพียงเพราะว่าบริษัทผู้ผลิตไม่ต้องการแก้ไขให้เสียเวลาและเงิน เนื่องจากช่วงนั้นเกิดการแข่งขันทางด้านการบินอย่างสูง บริษัท McDonnell Douglas ต้องการเอาชนะคู่แข่งอย่าง Boeing ที่กำลังจะเปิดตัวเครื่องรุ่น 747 ออกมา จึงไม่ทำการแก้ไขข้อบกพร่องเพียงเล็กน้อย (แต่มีคนตายไป 346 คน) เพื่อให้เสียเวลาการผลิต เพิ่มต้นทุนค่าออกแบบใหม่ และเสียเวลาการเปิดตัวเครื่องบินออกไป

ทั้งที่ก่อนจะเกิดเหตุการณ์ครั้งแรก (1972) หลายอาทิตย์ ทางหัวหน้าวิศวกรที่ออกแบบประตูช่องสัมภาระให้กับ MD-11 (เป็นบริษัทข้างนอก) ได้ส่งจดหมายแจ้งเตือนข้อผิดพลาดของระบบล็อกที่สามารถทำให้ประตูเกิดเปิดออกมาได้ระหว่างบิน แถมตอนที่ทดสอบเครื่องต้นแบบในการทนแรงดัน ก็มีเหตุการณ์ที่ประตูนี้เปิดออกมาอีกด้วย (มีวิดีโอถ่ายเก็บไว้เลยทีเดียว) ถึงกระนั้น บริษัทก็ยังไม่ยอมแก้ไข เนื่องด้วยเหตุผลข้างต้น
เพียงแค่นั้นเอง เพียงแค่เห็นเงินสำคัญกว่าชีวิต

หลังจากเหตุการณ์นั้น McDonnell Douglas ก็ถูกปรับเงินจำนวนมหาศาล และสุดท้ายก็ถูก Boeing ซื้อไป (แข่งดีนัก โดนซื้อเลยเป็นไง)

แต่ประเด็นมันไม่ได้มีอยู่เพียงแค่นั้นครับ

เรื่องที่เกี่ยวเนื่องมาถึงบ้านเรา ในบ้านเราก็มีเหตุการณ์เครื่องบินตกเช่นกัน หลายครั้งด้วย เสียชีวิตไปหลายสิบหลายร้อยคน แต่ทำไมครับ ไม่มีใครออกมาสืบสวนหาสาเหตุกันหน่อยหรือ พอเครื่องบินทหารขัดข้อง ตกกลางป่า หายสาบสูญ ค้นหาแล้วค้นหาอีก ก็ยังไม่เจอ ตนถึงวันนี้ก็ปีกว่าเกือบสองปีแล้ว เลิกค้นหาไปนานแล้ว ทางการก็ออกมาบอกเพียงแค่ว่า เครื่องยนต์ขัดข้องอย่างนั้นหรือ? แล้วคุณจะให้มันเกิดเหตุการณ์อย่างนั้นซ้ำสองหรืออย่างไร
หรืออย่างเหตุการณ์ ปลากระป๋องบูดอย่างที่เป็นข่าวในตอนนี้ก็เช่นเดียวกัน ปัดความรับผิดชอบกันไปมา ผมเห็นในข่าวแล้วรู้สึกสังเวชเกินทน ทำไมเราถึงไม่เห็นคุณค่าของมนุษย์บ้าง มองไปทางไหนก็มีแต่วัตถุ เห็นแต่เงิน ไม่เห้นความสำคัญของชีวิตมนุษย์

ที่เราได้รับความเป็นวัตถุนิยมมาจากต่างชาติ แต่ทำไมชาวต่างชาติจึงเห็นคุณค่าของมนุษย์มากกว่าสิ่งของ

แล้วคุณล่ะ เห็นสิ่งของมีค่ามากกว่าเพื่อนมนุษย์รึเปล่า?

ปล.ตอนแรกกะจะมีต่อจากนี้อีกครับ แต่เดี๋ยวจะยาวไป เอาแค่นี้ดีกว่า
ปล.2 จริงๆดู Air Crash Investigation มาเกือบๆ 20 ตอนแล้ว ถ้ามีโอกาสวันหลังจะมาเล่าอีก (Youtube Playlists)
ปล.3 ถึงตอนนี้ก็ยังฝันอยากเป็นนักบินอยู่ครับ แต่ว่าความเป็นไปได้มันริบหรี่เหลือเกิน