03 July 2013

Is client god?

เมื่อวานที่ออฟฟิศมีคนเอากระทู้ในพันทิพมาโพส เป็นเรื่องเกี่ยวกับลูกค้าคนนึงที่เข้าไปกินอาหารในร้านริมถนนร้านหนึ่งแล้วโวยวายตอนจ่ายตังเพราะพบว่าราคาอาหาร (ออส่วน) ที่สั่งราคา 90 บาท ไม่ตรงกับที่บอกในป้ายหน้าร้าน "อร่อยชัดเจน 35.-" ตัวเลขที่เห็นในป้ายน่ะมันคือชื่อร้านไม่ใช่ราคาของออส่วน เลยมีประเด็นเถียงกันนิดๆ หน่อยๆ ในห้องแชทของออฟฟิศว่าใครกันแน่ที่เป็นฝ่ายผิด แต่สุดท้ายก็โดนตัดจบเพราะหลายคนได้กลิ่นดราม่าลอยมา แต่ส่วนตัวแล้วยังค้างคาใจนิดหน่อยเรื่องที่ว่าสิทธิของผู้บริโภคมันควรจะมีขีดจำกัดหรือไม่ ถ้ามีมันควรจะแค่ไหน?

การตั้งป้ายแบบที่สร้างความสับสนให้ผู้ซื้อมีอยู่ทั่วไป ยกตัวอย่างเช่นในห้างสรรพสินค้า ป้าย "SALE up to 90%" ที่ใช้ up to ฟอนต์ขนาด 14 แต่ตัวเลขฟอนต์ 400 ไม่เห็นจะมีใครมาบ่นว่า "ชิ้นนี้แม่งลด 20% เสือกติดป้ายหน้าร้านซะใหญ่ว่าลด 90%" เรื่องแบบนี้ผมไม่มองว่าจะเป็นความผิดของผู้ขายเลยแม้แต่น้อย ผู้ซื้อต่างหากที่ควรจะรู้เท่าทัน และสอบถามให้แน่ใจ (หรือพอใจ) ก่อนซื้อเสมอ

แต่ประเด็นที่ก้ำกึ่งว่าผู้ขายจะหลอกลวงผู้บริโภคก็มีอยู่ (ซึ่งเรื่องในกระทู้ข้างต้นผมว่าไม่ใช่) เช่นเบอร์เกอร์หมูใน 7-ELEVEn ที่พลิกดูส่วนประกอบด้านหลังแล้วเสือกมี "เนื้อไก่ 12%" เขียนอยู่ด้านหลัง (เลขนี้มั่ว) ซึ่งถ้ามองในมุมนึงฉลากด้านหน้าก็ไม่ได้โฆษณาว่า "ปราศจากเนื้อไก่" แต่ถ้ามองอีกด้านอาหารเนื้อหมูก็ไม่ควรจะใส่เนื้อไก่ และคนที่ไม่เนื้อไก่ก็มีอยู่ (ผมละคนนึง ต้องระวังเรื่องกรดยูริก) ประเด็นแบบนี้ผมว่าก็สามารถจะร้องเรียนสคบ.ได้อยู่เหมือนกัน

ว่าถึงเรื่องสคบ. ตอนนี้ผมยังไม่เคยร้องเรียนเลยแม้แต่ครั้งเดียว เคยแต่ใช้เป็นทริกในการเจรจากับผู้ขาย ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของการบริการที่ไม่ได้มาตรฐานมากกว่าสินค้า เพราะสินค้าเป็นสิ่งที่เราได้เห็น ได้มีเวลาตัดสินใจ เปรียบเทียบ และตรึกตรอง (แน่นอนว่าก็มีบ้างประเภทที่ว่าซื้อทั้งที่ไม่ได้ยั้งคิด)

สรุปว่า ลูกค้าไม่ใช่พระเจ้า และ "การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุน"